COLUMNIST

นโยบายทางการเงินที่เรียกว่า Quantitative Easing (QE)
POSTED ON -


 

เชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า Quantitative Easing หรือ QE กันมาบ้างไม่มากก็น้อยจากทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังมานี้ที่ QE ได้มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในระบบเศรษฐกิจของโลกเนื่องจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาได้นำนโยบายทางการเงินนี้มาใช้บ่อยครั้งขึ้น แท้จริงแล้ว QE ได้ถูกนำมาใช้นานมาแล้วในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาเองก็ตาม

 

QE เป็นนโยบายทางการเงินแบบนโยบายเฉพาะกิจหรือนโยบายแบบชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งนั่นหมายความว่า QE ไม่ได้เป็นนโยบายที่ถูกใช้บ่อยครั้งนัก พูดง่ายๆ คือนโยบายนี้เป็นนโยบายที่จะถูกนำมาใช้ก็ต่อเมื่อนโยบายทางการเงินและการคลังของประเทศนั้นๆ ใช้ไม่ได้ผลแล้วนั่นเอง

 

QE จึงเปรียบได้กับยาแรงที่ถูกนำมาใช้เมื่อยาทั่วๆ ไปที่รับประทานเข้าไปนั้นไม่สามารถรักษาโรคที่เป็นอยู่ได้แล้วนั่นเอง ซึ่งเป็นไปตามหลักการทั่วไปนั่นคือการรักษาโรคด้วยยาแรงนั้นจะช่วยให้หายจากโรคนั้นได้รวดเร็วก็จริง แต่ยาแรงก็มักจะส่งผลกระทบต่อร่างกายมากกว่ายาขนานปกติด้วยเช่นกัน และที่สำคัญที่สุดก็คือเราจะต้องพยายามหาเวลาที่เหมาะสมเพื่อหยุดยาแรงนี้ให้ได้เองเนื่องจากการหยุดยาก่อนกำหนดก็อาจส่งผลให้ยาที่ใช้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่ถ้าเราใช้ยานานเกินไป ยาแรงนี้จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงไม่น้อยไปกว่าโรคที่เราเป็นอยู่เลยทีเดียว

 

นโยบายทางการเงินที่ใช้กันตามปกตินั้นแท้จริงมีหลากหลายนโยบายแต่นโยบายที่มักจะถูกใช้อย่างสม่ำเสมอก็คือนโยบายการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพราะอย่างที่ทราบกันนั้นการลดอัตราดอกเบี้ยลงจะทำให้ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากดอกเบี้ยลดลง ซึ่งนั่นอาจทำให้คนนำเงินออกมาใช้จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม แทนที่จะนำเงินไปออมเก็บไว้ นอกจากนี้การลดอัตราดอกเบี้ยลงนั้นมักจะไปกระตุ้นให้เกิดการกู้เงินมาลงทุนมากยิ่งขึ้นจากทางฝั่งของผู้ประกอบการเนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านั้นจะมีต้นทุนในการกู้ยืมที่ลดลง ซึ่งทั้งสองประเด็นที่กล่าวมานี้จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศมีชีวิตชีวาขึ้น มีเงินหมุนเวียนในระบบมากยิ่งขึ้น

 

สรุปคือเมื่อมีการใช้จ่ายและการลงทุน เศรษฐกิจก็มีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นได้ ส่วนทางด้านนโยบายทางการคลังที่นิยมใช้กันคงหนีไม่พ้นนโยบายด้านภาษี กล่าวคือการลดอัตราภาษีลงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดีเนื่องจากจะเป็นการทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกำไรมากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการมีเงิน แน่นอนว่าการขยายกิจการ การลงทุนหรือแม้แต่การใช้จ่ายก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจนั่นเอง

 

หลายคนอาจสงสัยว่าในนโยบายทางการเงินและการคลังเหล่านี้ก็น่าจะเป็นยาดีและเป็นยาที่ถูกกับโรคแล้ว แต่ทำไมบางประเทศถึงยังต้องนำยาแรงอย่าง QE เข้ามาใช้อีก เหตุผลที่แท้จริงก็คือว่าแม้ว่าทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยและการลดภาษีมักจะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและเงินฝืดได้เป็นอย่างดี แต่การที่ต้องใช้นโยบาย QE นี้ก็เนื่องมากจากว่านโยบายการลดอัตราดอกเบี้ยและการลดภาษีนี้ใช้ไม่ได้ผลหรือไม่สามารถกระทำได้อีกต่อไป กล่าวคือธนาคารกลางได้พยายามลดอัตราดอกเบี้ยจนเข้าใกล้ 0% มากที่สุดแล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่าไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยมากลงอีก เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้อีกแล้วนั่นเอง

 

ทางด้านรัฐบาลเองถึงแม้จะมีนโยบายทางการคลังอย่างเช่นนโยบายลดภาษี แต่อย่างที่ทราบว่าในปัจจุบันแต่ละประเทศมีหนี้สาธารณะค่อนข้างสูง ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ค่อยประสงค์ที่จะดำเนินการลดภาษีเท่าใดนัก เนื่องจากการลดภาษีจะเป็นการลดรายได้ภาครัฐด้วยนั่นเอง ซึ่งเมื่อรายได้ลดลงอาจทำให้ภาครัฐมีเงินไม่เพียงพอในการบริหารประเทศ ส่งผลให้ภาครัฐอาจจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณหนี้สาธารณะก็เป็นได้ จากเหตุผลที่กล่าวมานี้จึงเป็นสาเหตุให้นโยบาย QE ถูกมองว่าเป็นทางออกสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจนั่นเอง

 

ถึงตรงนี้แล้วเราคงพอจะทราบถึงที่มาที่ไปแล้วว่าทำไมนโยบาย QE ถึงได้ถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ที่นี้เราลองมาดูต่อว่านโยบาย QE นี้มีการทำงานอย่างไร นโยบาย QE ก็คือการที่ธนาคารกลางอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบด้วยปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเงินที่ธนาคารกลางอัดฉีดเข้ามานั้นไม่ได้มีการตั้งสำรองด้วยสินทรัพย์ใดๆ เลย ดูแล้วคล้ายกับว่านโยบาย QE คือการพิมพ์เงินเพิ่มเข้ามาในระบบนั่นเอง (Printing Money) แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือนโยบาย QE นำเงินที่อัดฉีดเข้ามาในระบบเพื่อไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้เอกชนจากธนาคารพาณิชย์ และขอเน้นว่าพันธบัตรรัฐบาลนั้นจะต้องเป็นพันธบัตรที่มีอยู่แล้วเท่านั้น เพราะถ้าธนาคารกลางอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบเพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่กำลังจะออกมาก็จะกลายเป็นการพิมพ์เงินเพิ่มแทนนโยบาย QE โดยนโยบาย QE จะส่งผลให้ราคาของพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชนมีราคาสูงขึ้น (ตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์ในเรื่อง Demand-Supply)ในขณะที่ผลตอบแทนที่ได้รับนั้นเท่าเดิม

 

ดังนั้น อัตราผลตอบแทนสุทธิจึงลดลง การลงทุนผ่านการถือพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชนจึงมีความน่าสนใจลดลง ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ รวมถึงสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น บริษัทประกันภัยจะหันไปหารายได้ด้วยวิธีการอื่นทดแทน ประกอบกับที่ธนาคารและสถาบันการเงินมีสภาพคล่องมากขึ้น มีเงินอยู่ในมือมากยิ่งขึ้น รวมทั้งต้นทุนการกู้ยืมเงินที่น่าจะลดลงตามอัตราผลตอบแทนที่ลดลง แนวโน้มการปล่อยเงินกู้ก็จะสูงขึ้น ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เติบโตต่อไปได้นั่นเอง นอกจากนี้ผลดีของการดำเนินนโยบาย QE อีกอย่างก็คือการช่วยลดอัตราการว่างงานลงได้อีกด้วย จากการที่ภาคเอกชนสามารถกู้เงินเพื่อมาเป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือกู้เงินมาขยายกิจการด้วยต้นทุนที่ต่ำลงนั่นเอง และเมื่อมีการขยายกิจการอัตราการจ้างงานจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

 

อย่างไรก็ตามผลเสียที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการดำเนินนโยบาย QE ก็คือภาวะเงินเฟ้อ เพราะเงินที่ถูกอัดฉีดเข้ามาสู่ระบบนั้นมีจำนวนมากทำให้ภาคเอกชนและภาคครัวเรือนมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จำนวนสินค้าและบริการนั้นถูกผลิตเพิ่มขึ้นไม่ทันทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อตามมา นอกจากนี้ค่าเงินของประเทศที่ได้ดำเนินนโยบาย QE ก็จะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีกด้วย เนื่องจากนักลงทุนนำเงินไปลงทุนในตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น นโยบาย QE ยังทำให้ราคาสินค้าอย่างที่ดิน บ้าน ทองคำและราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วยซึ่งผลกระทบดังกล่าวไม่เพียงกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าและบริการในประเทศที่ดำเนินนโยบาย QE เท่านั้น แต่ถ้าประเทศดังกล่าวเป็นประเทศที่มีความสำคัญต่อระบบการค้าโลก ผลกระทบดังกล่าวยังจะขยายวงกว้างออกมายังประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอีกด้วย

 

ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วนั้นว่านโยบาย QE เปรียบเสมือนยาแรง ดังนั้นการหาช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะหยุดยาแรงนี้จึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าช่วงที่จะเริ่มใช้ยาแรงนี้เลย เพราะการหยุดยาแรงนี้ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม จะทำให้อาการของโรคร้ายที่กำลังดีขึ้นกลับมาแย่ลงและแย่ลงกว่าเดิมอีกด้วย เนื่องจากการดำเนินธุรกิจในช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้น กิจการยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ง่ายกว่าการดำเนินธุรกิจในสภาพแวดล้อมที่มีความผันผวนกลับไปกลับมาอย่างแน่นอน